โรคขาดสารอาหาร ภัยเงียบที่มาพร้อมกับความผอม

A Bored Girl with Her Hand on her Cheek · Free Stock Photo

โรคขาดสารอาหาร ภัยเงียบที่พร้อมกับอาการผอมซูบหรืออาการบวมผิดปกติที่เห็นได้ชัดว่าร่างกายไม่สมดุล จัดเป็นภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) หรือการได้รับสารอาหารในปริมาณที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน จนทำให้เกิดความผิดปกติในร่างกาย เช่น อ่อนเพลีย ผิวหนังมีลักษณะผิดปกติ กระดูกหยุดเจริญเติบโต หรือภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมเป็นเวลานานอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตเลยทีเดียว

โรคขาดสารอาหารเกิดขึ้นได้อย่างไร?

โรคขาดสารอาหารมักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นเพียงพอ เช่น

  • อาการป่วย เช่น โรคมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์ หรือสภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ในผู้สูงวัย
  • การผ่าตัดหรือการได้รับยาบางชนิดทำให้อยากอาหารน้อยลง
  • อาการเบื่ออาหารจากความเครียด ภาวะซึมเศร้า หรือไบโพลาร์
  • ร่างกายได้รับสารอาหารตามปกติแต่กลับไม่สามารถดึงเอาสารอาหารเหล่านั้นไปใช้ได้
  • พฤติกรรมการเลือกกินอาหารเฉพาะบางประเภทหรือการจำกัดปริมาณอาหาร
  • การขาดแคลนอาหารจากปัญหาความยากจน

ซึ่งการขาดสารอาหารโดยเฉพาะสารอาหารหลักที่เป็นแหล่งพลังงานของร่างกายอย่างโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่นอกจากจะทำให้ร่างกายผอมลงซูบลงแล้วยังทำให้อวัยวะบางอย่างทำงานผิดปกติอีกด้วย

โรคที่เกิดจากการขาดสารอาหาร

  1. โรคที่เกิดจากการขาดพลังงานและโปรตีน โดยทั่วไปมักพบในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี เมื่อมีภาวะขาดโปรตีนรุนแรงอาจทำให้มีอาการขาบวม ผมร่วง ผิวหนังลอกออกเป็นแผ่น ตับโตและมีอาการเศร้าซึมหรือที่เรียกว่า ภาวะควาชิออร์กอร์ (Kwashiorkor) นอกจากนี้ยังพบการขาดโปรตีนและพลังงานในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี ทำให้ร่างกายซูบผอมเรียกว่ามาราสมัส (Merasmus) ซึ่งในบางรายอาจมีอาการทั้ง 2 แบบเกิดขึ้นพร้อมกัน
  2. โรคที่เกิดจากการขาดวิตามินและแร่ธาตุ เช่น
  • โรคเกี่ยวกับการมองเห็นจากการขาด วิตามิน A
  • โรคเหน็บชาหรืออาการชาปลายประสาทจากการขาดวิตามิน B1
  • โรคปากนกกระจอกจากการขาดวิตามิน B2
  • โรคโลหิตจางที่จากการขาดธาตุเหล็ก
  • โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะจากการขาดฟอสฟอรัส
  • โรคคอพอกจากการขาดไอโอดีน

อาการเบื้องต้นของโรคขาดสารอาหาร

โดยอาการบางอย่างของโรคขาดสารอาหารอาจไม่รุนแรงทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าเป็นโรคได้

  • น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ
  • ผมร่วงผิดปกติ
  • เวียนศีรษะ ใจสั่นและอ่อนเพลียง่าย
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • มีอาการชาหรือเสียวบริเวณข้อต่อ

หากมีอาการเหล่านี้มากขึ้นหรือเป็นติดต่อกันเป็นระยะเวลานานและในเด็กที่เริ่มมีอาการบวมหรือผอมแห้งผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ รวมทั้งในผู้ใหญ่ที่ผอมผิดปกติหรือมีอาการเบื่ออาหารรุนแรงควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง

โรคขาดสารอาหารป้องกันได้อย่างไร?

การป้องกันสามารถทำได้ง่ายๆ โดยการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในสัดส่วนที่พอเหมาะ ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป หลีกเลี่ยงการทานอาหารเมนูเดิมซ้ำๆ ควรสลับทานให้ได้สารอาหารที่หลากหลาย โดยเน้นผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี และทานอาหารจำพวกแป้งและโปรตีนให้เพียงพอ เช่น ข้าว ขนมปัง เนื้อสัตว์ ไข่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น หากผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีร่างกายไม่สมบูรณ์ควรดูแลรักษาตนเองเป็นพิเศษ ได้แก่

  1. การปรับเปลี่ยนการทานอาหาร โดนทานอาหารว่างเพิ่มระหว่างมื้ออาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูง อาจเข้าพบนักโภชนาการเพื่อวางแผนการทานอาหารให้เหมาะสม
  2. การทานอาหารเสริม บางคนอาจต้องทานอาหารเสริมร่วมกับวิตามินอื่นๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมได้ดีขึ้น ซึ่งระยะเวลาและปริมาณจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการขาดสารอาหาร
  3. การรับอาหารสายยาง ในผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถเคี้ยวหรือกลืนอาหารได้ แพทย์อาจให้อาหารสายยางผ่านจมูกไปยังกระเพาะอาหารหรือเจาะช่องท้องโดยตรง รวมถึงการให้สารอาหารผ่านทางหลอดเลือดดำ

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันโรคขาดสารอาหารคือการได้รับสารอาหารครบถ้วน เพียงพอ และเหมาะสมตั้งแต่แรกเกิด การเลือกทานอาหารที่หลากหลายไม่จำเจร่วมกับการออกกำลังกายที่เหมาะสม รวมถึงการหมั่นสังเกตตนเองและควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อให้สามารถตรวจหาความผิดปกติของร่างกายได้ทันท่วงทีก่อนที่จะสายเกินแก้ ซึ่งหากทำประกันสุขภาพไว้กับ Rabbit Care ก็สามารถโทรปรึกษาแพทย์แบบไม่ต้องไปโรงพยาบาลได้ 2 ครั้งต่อปี แถมดูแลค่ารักษาพยาบาลได้ครอบคลุมทั้งค่ารักษาและค่าห้อง พร้อมเจ้าหน้าที่คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง